เงื่อนไขล่าสุด แจกเงิน 1 หมื่น เงินเดือนเท่าไหร่มีสิทธิ-ใช้ซื้ออะไรไม่ได้
ชัดเจนแล้ว เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (10 พ.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 600,000 ล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 100,000 ล้านบาท ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ทุกอย่างที่แถลงวันนี้ จะยังต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และต้องมีมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปเป็นไฟนอลอีกครั้ง
ตัวเลขดังกล่าวเกิดจากการที่รัฐบาลได้รับฟังความคิดเห็น จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกัน และปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ให้รัดกุมขึ้น โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาทให้กับคนไทย ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท
ประโยคนี้แปลว่า ถ้ามีรายได้เกิน 70,000 บาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือถ้ามีรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 500,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในระยะเวลา 6 เดือน หลังจากที่โครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่าย ครอบคลุมระดับอำเภอ ตามที่ได้รับการฟังความคิดเห็นมา
ทั้งนี้ พัฒนาต่อยอดแอปเป๋าตัง ให้มีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง วงเงินที่ใช้ จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ไม่ขัดต่อหลักกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้ในเดือน พ.ค.67
และต้องลงทะเบียน ใช้ซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค ใช้ภายใน 6 เดือน ใช้ในอำเภอตามบัตรประชาชน สิ้นสุดโครงการในเดือน เม.ย.2570 ทั้งนี้ ไม่สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ บัตรกำนัล อัญมณี จ่ายหนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟ เติมน้ำมัน ค่าแก๊ส สินค้าอบายมุข (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระท่อม กัญชา) ชำระหนี้ ค่าเรียน ค่าเทอม ค่าโทรศัพท์ น้ำมันเชื้อเพลิง แลกเป็นเงินสดไม่ได้ โอนวงเงินให้คนอื่นไม่ได้
พร้อมกันนั้น จะใช้เงินในการเพิ่มขีดความสามารถภายใต้เงิน 100,000 ล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้ที่มีความสามารถ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ต่อเนื่องต่อไป
ยังยืนยันความตั้งใจที่จะทำให้คนไทยทุกคน มีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ดังนั้น รัฐบาลจะออกโครงการอีรีฟันด์ ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการ มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษีมาประกอบยื่นภาษีบุคคลธรรมดา และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้รับเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย
โดยสรุป นโยบายทั้งหมดนี้ จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน ได้แก่ 1.กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญ ผ่านการบริโภคและการลงทุน 2.วางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และอีกอฟเวอร์เมนต์ ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหา เชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว
“ย้ำอีกครั้ง นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชน ผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศราฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลัง ของรัฐทุกประการ ขอให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่าย อย่างมีความภาคภูมิใจ โดยทุกคนล้วนเป็นผู้สร้างการเจริญเติบโต และความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจ” นายเศรษฐา กล่าว