วันที่ 30 ต.ค.66 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานการสอบสวน ถนนบรมราชชนนี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หัวหน้าชุดคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน คดี 140 ล้านบาท เรียกประชุม คณะพนักงานสอบสวนทั้งพนักงานอัยการ และตำรวจ โดยมี พล.ต.ต.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ซึ่งเป็นผู้แทน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
นายวัชรินทร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าทางคดีว่า เนื่องจากคดีนี้เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งพนักงานอัยการต้องเข้าร่วมการสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการแต่งตั้งคณะพนักงานอัยการเพื่อกำกับดูแลคดีนี้แล้ว แต่ภายหลังมีบางส่วนที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไป จึงได้มีการแต่งตั้งชุดทำงานคณะใหม่ขึ้นมา
ขณะที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เดิมทีมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ ก็ได้เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบไปแล้ว ในวาระการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งล่าสุด รวมถึงมีตำรวจพนักงานสอบสวนบางนายในคดีนี้ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ ซึ่งสืบเนื่องจากการเข้าตรวจค้นบ้านพักของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อต้นเดือน ก.ย.66 ที่ผ่านมา ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรอให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.มีคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนชุดใหม่ เพื่อกำกับดูแลคดีนี้ต่อไป
โดยวันนี้ทางคณะพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะร่วมกันหารือถึงความคืบหน้าทั้งหมดในคดี เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีและรวบรวมพยานหลักฐาน จัดทำส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อไป
โดย ยืนยันว่า จะเร่งทำสำนวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เบื้องต้น ได้สอบปากคำพยานในคดีนี้ไปแล้วจำนวน 15 ราย
ภายหลังการประชุมชุดคณะทำงานกำกับการสอบสวนคดีตำรวจรีดทรัพย์ 140 ล้านบาท นายวัชรินทร์ ในฐานะหัวหน้าชุดทำงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันระหว่างทีมพนักงานสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทีมพนักงานอัยการสอบสวน ก็มีการตกผลึกข้อมูลร่วมกัน โดยได้หารือในประเด็นต่าง ๆ ว่ายังมีประเด็นใดที่ค้างคา ต้องสอบสวนเพื่อหาความเชื่อมโยงเพิ่มเติมให้ชัดเจนมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการเงิน และได้ข้อสรุปว่า คณะทำงานจะสามารถทำสำนวนคดีนี้ให้เสร็จได้ภายใน 2 เดือน โดยการทำสำนวนจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา และ ยืนยันว่า ทุกอย่างต้องชัดเจน ต้องตอบให้ได้ทั้งหมดว่า ใครถูกดำเนินคดีเพราะอะไร มีความเชื่อมโยงตรงไหน หากไม่พบความเกี่ยวข้อง จะไม่มีการดำเนินคดี
ส่วนพยาน 15 ปาก ที่คณะทำงานได้เรียกมาสอบสวนเพิ่มเติมไปแล้วนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ ได้ข้อมูลที่เพียงพอ หลังจากนี้ อาจมีการเรียกพยานใหม่มาสอบสวนเพิ่มเติมอีก แต่ถือว่าเหลือไม่มากแล้ว โดยในการสอบสวน จะเรียกมาที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี ซึ่งมีการตั้งวอร์รูมขึ้นที่นี่
สำหรับกรณีนี้ ตำรวจ สภ.คูคต ได้ดำเนินคดี พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี และลูกน้อง รวม 10 คน กรณีไปจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนัน แล้วนำตัวไปรีดเงิน 140 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเคลียคดี จนมีวลีเด็ดว่า “เป้รักผู้การเท่าไหร่ เป้เขียนมา” แต่ภายหลังกลุ่มผู้ต้องสงสัยไม่พอใจกับพฤติกรรมของตำรวจชุดจับกุม จึงได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.คูคต จังหวัดปทุมธานี เพื่อดำเนินคดีกับตำรวจชุดดังกล่าว ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณา และต่อมา ป.ป.ช. ก็มีคำสั่งให้ส่งสำนวนกลับมาให้ชุดพนักงานสอบสวนเดิมทำคดีต่อ
ในคดีนี้แรกเริ่มเดิมที ต้นเรื่องเป็นของพนักงานสอบสวน สภ.คูคต จากนั้นจึงมีการตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติชาติ ซึ่งมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน แต่ในข้อกฎหมายการกระทำความผิดที่เข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายนั้น จะต้องมีพนักงานอัยการเข้าไปร่วมสอบสวนกับตำรวจในชั้นสอบสวนด้วย ซึ่งเดิมทีเป็นอำนาจของสำนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี แต่เนื่องด้วยมีการเกิดเหตุในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และเชียงราย ทางสำนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี จึงทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด ว่าเห็นควรให้ทำคดีนี้อย่างไร ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุด ก็ได้มีคำสั่งให้สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ทำคดีร่วมสอบสวนกับตำรวจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานทำสำนวน