ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม ทลายแก๊งรับจ้างทำแผ่นป้ายทะเบียน แผ่นป้ายภาษี และเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์ปลอม สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 5 ราย ดังนี้
- นายอภิเดชฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับที่ 3225/2566 ลง 22 ก.ย.2566 ความผิดฐาน “ร่วมกันปลอมเอกสารราชการปลอม” (ทำหน้าที่ เป็นคนกลาง รับงานเพื่อสั่งผลิตสินค้า)
- น.ส.นิสากรฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับที่ 3227/2566 ลง 22 ก.ย.2566 ความผิดฐาน “ร่วมกันปลอมเอกสารราชการปลอม” (ทำหน้าที่ ผลิตป้ายภาษี และคู่มือจดทะเบียนรถปลอม)
- นายอภิชาติฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับที่ 3228/2566 ลง 22 ก.ย.2566 ความผิดฐาน “ร่วมกันปลอมเอกสารราชการปลอม” (ทำหน้าที่ รับส่งสินค้า)
- นายดัชฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับที่ 3224/2566 ลง 22 ก.ย.256ความผิดฐาน “ร่วมกันปลอมเอกสารราชการปลอม” (ทำหน้าที่ เปิดเพจ รับงานจากลูกค้า)
- นายณัฐฉัตรฯ ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (ทำหน้าที่รับทำป้ายภาษีปลอม)
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง กก.1 บก.ทล. (อยุธยา) ได้จับกุมนายธนดล หรือแบงค์ อายุ 30 ปี ที่บริเวณถนนสุดบรรทัด 13 ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี
โดยตรวจสอบพบว่า นายธนดลฯ ใช้รถยนต์ที่มีการติดแผ่นป้ายทะเบียน และแผ่นป้ายภาษีปลอม จึงถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
ต่อมา กก.2 บก.ป. ได้ดำเนินการสืบสวนขยายผลติดตามจับกุมกลุ่มผู้กระทำความผิดที่รับจ้างทำแผ่นป้ายทะเบียน แผ่นป้ายภาษี และเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์ปลอม
โดยสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้จำนวนทั้งสิ้น 5 ราย โดยพบว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย มีการร่วมกันกระทำความผิด กระทำการในลักษณะรูปแบบขบวนการ โดยมีนายดัชฯ ทำหน้าที่เปิดเพจเฟซบุ๊ก ในลักษณะของการรับจำนำรถ จำนองรถ หรือ ขายฝากรถ ซึ่งในกรณีที่มีลูกค้าสนใจอยากทำป้ายทะเบียน หรือป้ายภาษีปลอม จะมีการติดต่อพูดคุยกันผ่านไลน์ของนายดัชฯ โดยจะคิดค่าดำเนินการประมาณ 2,500 บาท ซึ่งจะให้ลูกค้าโอนเงินผ่านบัญชีม้าที่นายดัชฯ ถือไว้ หลังจากนั้น นายดัชฯ จะส่งข้อมูลพร้อมกับค่าจ้างประมาณ 2,000 บาท ในการทำเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์ปลอมไปให้กับนายอภิเดชฯ (คนกลางซึ่งทำหน้าที่ติดต่อกับผู้รับทำเอกสารปลอม)
โดยนายดัชฯ จะหักค่าดำเนินการครั้งละประมาณ 200-500 บาท ต่อมาเมื่อนายอภิเดชฯ ได้ข้อมูลสินค้าเเละค่าจ้างแล้ว นายอภิเดชฯ จะติดต่อไปยัง น.ส.นิสากรฯ ให้ผลิตทำเอกสารปลอมตามที่ได้รับงานมา โดย นายอภิเดชฯ จะได้ค่าส่วนต่างจากราคาสินค้าที่ น.ส.นิสากรฯ ผลิต ในส่วนของ น.ส.นิสากรฯ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตป้ายภาษี และคู่มือจดทะเบียนรถปลอมจะใช้วิธีการปริ้นท์ข้อความลงในแบบฟอร์มป้ายภาษีหรือคู่มือจดทะเบียนรถ คิดราคาชิ้นประมาณ 1,000 บาท หรือ 1,500 บาท โดยจะจัดส่งผ่านทางร้านพัสดุ และในส่วนของนายอภิชาติฯ จะทำหน้าที่นำแผ่นป้ายทะเบียนปลอม ไปส่งทางไปรษณีย์ให้กับลูกค้า โดยได้รับค่าจ้างครั้งละ 150 บาท
อีกทั้งยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าที่ร้านแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี มีการผลิตแผ่นป้ายทะเบียนปลอม โดยมีวิธีผลิต 2 วิธี คือ การนำแผ่นป้ายทะเบียนจริงมาหลอมแล้วขึ้นรูปใหม่ และการใช้แผ่นอะลูมิเนียมมาปั๊มขึ้นรูป
ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ป. จึงได้ลงพื้นที่จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 5 ราย พร้อมตรวจยึด รถยนต์เก๋ง 2 คัน, แผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ 25 แผ่น, แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ 47 แผ่น, อุปกรณ์ทำแผ่นป้ายทะเบียน 74 ชิ้น, สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 12 เล่ม, โทรศัพท์มือถือ 8 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 2 เครื่อง, เครื่องพิมพ์เอกสาร 1 เครื่อง, แท็บเล็ต 1 เครื่อง, บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 2 ใบ, เอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำผิด 4 ฉบับ และสมุดจดชื่อลูกค้า 1 เล่ม อีกทั้งยังได้ตรวจค้นร้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นร้านที่รับทำป้ายทะเบียน พร้อมตรวจยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป