จากกรณีที่นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง นาโหนด อายุ 37 ปี ผู้ต้องโทษในความผิดคดีปล้นทรัพย์ ความผิดต่อเสรีภาพ พ.ร.บ.อาวุธปืน กำหนดโทษรวม 21 ปี 3 เดือน 25 วัน และจะพ้นโทษในวันที่ 6 พ.ค. 2586 ก่อนก่อเหตุหลบหนีขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เมื่อเวลา 01.00 น.ของวันที่ 22 ต.ค. ต่อมาศาลออกได้อนุมัติหมายจับ 5 ผู้ช่วยเหลือเสี่ยแป้ง ได้แก่ น.ส.ยุวเรศ กลศึก หรือ หมวย (คนว่าจ้าง น.ส.วิลาวัลย์), น.ส.วิลาวัลย์ หมื่นรักษ์ หรือไหม (คนเฝ้าไข้เสี่ยแป้ง), นายจักรี แป้นน้อย หรือบิ๊ก, นายจีระวุฒิ ชุมศรี หรือบอย และนายคเนศ ทองประจง ฐานความผิดร่วมกันกระทำการด้วยประการใดให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจศาลซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปหลุดพ้นจากการคุมขังไป ขณะที่เสี่ยแป้งซึ่งยังอยู่ระหว่างหลบหนีกบดานในประเทศไทย ศาลได้ออกหมายจับในความผิดฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันที่ 27 ต.ค.66 นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ เปิดเผยความคืบหน้าว่า ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังคงอยู่ระหว่างสอบสวน และประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะการไล่ภาพจากกล้องวงจรปิดของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อย้อนดูว่าก่อนหน้านี้มีใครเข้ามาพบนายเชาวลิต หรือมีท่าทีลักษณะให้การช่วยเหลือสมคบคิดอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.66 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สอบถามประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ อาทิ ในส่วนระเบียบกรมราชทัณฑ์ ที่กำหนดว่าไม่อนุญาตให้จ้างคนนอกมาเฝ้าไข้ผู้ต้องขังที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำ และอนุญาตเฉพาะให้ญาติที่ลงทะเบียนไว้กับเรือนจำเท่านั้น (กรณีป่วยหนัก) หรือในกรณีที่แพทย์นัดหมายทำการรักษาแต่ได้มีการแจ้งเลื่อนออกไป เหตุใดยังมีการนำนักโทษออกมาที่โรงพยาบาล ซึ่งในหลาย ๆประเด็นนั้น เมื่อคณะกรรมการได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว ราชทัณฑ์จะชี้แจงต่อสาธารณะให้รับทราบอย่างแน่นอน
นายณรงค์ เผยต่อว่า ภายหลังจากที่กรมราชทัณฑ์ โดยอธิบดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้น ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน วันที่ 24-28 ต.ค.66 ว่า ผู้คุมราชทัณฑ์มีการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้นักโทษก่อเหตุหลบหนีหรือไม่?
ทั้งนี้หากพบ พาดพิงถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คนอื่น ๆ เพิ่มเติม ราชทัณฑ์ก็จะดำเนินการเอาผิดทั้งวินัยและอาญาด้วย นอกจากนี้ ในช่วงระยะหลังที่ผ่านมา พบว่าผู้ต้องขังคดีร้ายแรงอาจมีการวางแผนก่อเหตุหลบหนีมากขึ้นในระหว่างถูกนำตัวออกมานอกเรือนจำฯ นับตั้งแต่กรณีของ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ที่วางแผนหลบหนีในชั้นศาล โดยปกติแล้ว ภายในเรือนจำทุกแห่งจะมีมาตรการดูแลผู้ต้องขังอย่างเข้มงวด จึงทำให้ผู้ต้องขังต้องไปพยายามวางแผนจากสถานที่อื่น ซึ่งเป็นช่องว่างที่มีความเสี่ยงน้อย และการพิจารณาออกมารักษาตัวภายนอกเรือนจำ ราชทัณฑ์จะมีมาตรการป้องกันที่คุมเข้ม ทั้งการใส่เครื่องพันธนาการ การเดินตรวจตราเป็นพิเศษ แต่การหลบหนีครั้งนี้อาจเกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือเอื้อประโยชน์กันหรือไม่? ก็จะต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการ จึงจะสรุปได้