วันที่ 21 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้แจ้งข่าวดีกับ กองทัพอากาศว่า ในภารกิจการอพยพแรงงานไทยกลับจากประเทศอิสราเอลของ กองทัพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.66 เป็นต้นไป กองทัพอากาศไม่ต้องนำเครื่องบินทหารบิน โดยเฉพาะเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และเครื่องบินลำเลียง C-130 ทำการบินอ้อมประเทศแล้ว
ซึ่งจากเดิมใน 2 เที่ยวบินแรกที่กองทัพอากาศบินไปอพยพ แรงงานไทยใน อิสราเอลนั้น จะต้องบินผ่านน่านฟ้า 10 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์มิเนีย ตุรกี ไซปรัส และอิสราเอล
แต่ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เจรจาขอบินผ่านน่านฟ้าในเส้นทางการบินใหม่ โดยจะผ่านเพียง 7 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา อินเดีย โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน และ อิสราเอล ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียน กรุงเทลอาวีฟ โดยใช้เวลาประมาณ 8.30 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องบินอ้อมใช้เวลาประมาณ 13.30 ชั่วโมง
โดยจะเริ่มทำการบินได้ในเที่ยวบินที่ 3 ที่กองทัพอากาศส่ง เครื่องบินแอร์บัส A 340-500 ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ เวลา 13.30 น. คาดว่าจะมีแรงงานไทยเดินทางกลับเที่ยวบินที่ 3 นี้จำนวน 140 คน ซึ่งจะเดินทางกลับมาถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กทม. วันที่ 22 ต.ค.เวลา 10.50 น.
ทั้งนี้ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ข้อความดังกล่าว มาจากความกังวลเรื่องการจองเที่ยวบินสายการบินพาณิชย์ ที่ทางการไทยไม่ได้เช่าเหมาลำ หรือส่งเครื่องบินไปรับ ซึ่งต้องส่งรายชื่อจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า หากเกิดการเปลี่ยนกระทันหัน จะมีค่าใช้จ่าย หรือไม่สามารถเปลี่ยนรายชื่อได้ แต่ย้ำว่ารัฐบาลยังพยายามทำการอพยพคนไทยให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด ส่วนผู้ที่ยังออกมาไม่ได้ จะจัดหาเที่ยวบินให้ต่อไป